ทีแรกนึกว่ากระทู้นี้ ผมจะไม่ต้องตอบแล้วซะอีก

มาสะดุดตอนท้ายๆ ที่คุณบอกว่า
ต้องจัดแจงให้สติมาอยู่แทนกิเลสแบบนาน ๆ ซะแล้ว
สติ ก็เป็นอนัตตานะครับ อย่าเผลอไปเข้าใจว่าเราจะจัดแจงให้มันมาอยู่นานๆได้
ลองย้อนไปอ่านตรงนั้น จะเห็นความจริงแฝงอยู่ว่า มันเป็นโลภะเจตนา
จุดอ่อนของนักเรียนวิปัสสนาส่วนมาก คือเป็นพวกอยากดี อยากสุข อยากสงบ
เห็นกิเลส แล้วเหมือนเห็นผี เห็นจิตไม่ดี เหมือนหมาโดนน้ำร้อน ต้องดิ้นๆๆๆ
หลวงพ่อเคยสอนว่า สติ แม้แต่ขณะจิตเดียวก็บังคับให้เกิดไม่ได้
หน้าที่เราทำได้แค่ คอยหมั่นรู้สึกตัว รู้ลงปัจจุบัน
จิตไม่ดี จิตมีกิเลส รู้ว่าไม่ดี รู้ว่ามีกิเลส
อันนั้นคือกรรมฐานที่ดีที่สุดแล้ว
เพราะถ้าไปตั้งโจทย์ไว้ว่า จะต้องมีสติมากๆ มีสตินานๆ
เท่ากับเรากำลังปฏิเสธความจริงว่าสติเป็นอนัตตา
ที่จริง สติมันจะเกิดได้ เพราะจิตจำสภาวะได้เอง
เราจึงมีหน้าที่คอยตามรู้สภาวะ รู้กิริยาของจิต ทำได้แค่นี้นะครับ
ที่เหลือ จิตเขาทำของเขาเอง
อย่ารังเกียจทุกข์ อย่าพยายามปฏิเสธว่า เราต้องไม่มีกิเลส
เพราะตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นอาสวะ ยังไม่ได้สำเร็จอรหันต์
ทั้งกิเลส และทุกข์ ก็คือเงาที่เราไม่มีทางวิ่งหนีพ้น
ย้ำอีกที.. หน้าที่เราคือรู้ทันปัจจุบันขณะของจิตเรา
จิตเป็นกุศล เป็นอกุศล ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
สำคัญที่ รู้หรือไม่รู้
สำคัญที่ รู้แล้ว จิตปรุงความยินดี ยินร้าย เรารู้ทันอีกไหม
ถ้าจิตเป็นกุศล รู้ว่าเป็นกุศล สติก็เกิดแค่ขณะเดียว
หลังจากนั้น ไปยินดี ปลื้มที่รู้ว่าเป็นกุศล อันนี้เรามักจะไม่เห็น
หรือจิตเป็นอกุศล รู้ว่าเป็นอกุศล สติก็เกิดขณะเดียว
หลังจากนั้น ไปยินร้าย เกลียดมัน ไม่ชอบมัน อันนี้เราก็มักจะไม่เห็น
แทนที่จะรู้ลงปัจจุบันต่อ เรามักจะเผลอเคลิ้มไปในจิตที่เป็นกุศล
หรือไม่ก็ไปหาทางละ หาทางแก้จิตที่เป็นอกุศล
โดยลืมที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ทุกอย่างมันก็แค่ของชั่วคราว
กิริยาของวิปัสสนาในสติปัฏฐาน ไม่มีคำว่า "แก้" มีแต่คำว่า "รู้" นะครับ
เราไม่ได้วิปัสสนา เพื่อให้จิตดี
แต่วิปัสสนาเพื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว จิตมันไม่ใช่ของดี ของวิเศษ
จุดหมายเราคือการละ วาง ปล่อยความยึดมั่นถือมั่น
ไม่เอาชั่ว แต่ดีก็ไม่ยึด ครูบาอาจารย์บางท่าน ถึงบอกว่า ..นิพพาน มันอยู่เหนือดี เหนือชั่วนะ
อันนี้คุยกันแบบลูกศิษย์อาจารย์เดียวกัน.. ผมชี้ตรงๆ คงไม่เคืองกันนะครับ
